เมื่อ Freelance อยากมีบ้าน ต้องทำอย่างไร
การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารนั้น
จะพิจารณาจากความมั่นคงทางรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ
ซึ่งความมั่นคงทางการเงินจะพิจารณาจากการมีรายได้สม่ำเสมอ
และมีหลักฐานรายได้ชัดเจน ข้าราชการ คือกลุ่มที่ถือว่ามีความมั่นคงมากที่สุด
รองลงมาคือพนักงานประจำของบริษัทที่น่าเชื่อถือ
รวมทั้งเจ้าของกิจการที่จะทะเบียนการค้าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลักการเหล่านี้เอง
ที่ทำให้คนประกอบ อาชีพอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ หลายๆ คนไม่สามารถขอสินเชื่อบ้านได้
เนื่องจากลักษณะการทำงานของฟรีแลนซ์หลายๆ อาชีพ
จะเป็นการทำงานแบบพูดคุยตกลงกับนายจ้างเป็นงานๆ ไป
เมื่อเสร็จงานก็จะได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้
ในหนึ่งเดือนอาจจะมีหลายงานหรือมีเพียงงานเดียวก็ได้
รายได้ของฟรีแลนซ์จึงไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ที่ชัดเจน
ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทางสถาบันการเงินจะจัดให้คนที่ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์อยู่ในกลุ่มที่ไม่ความมั่นคง
ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระไปด้วย
แม้รายได้ของฟรีแลนซ์หลายๆ อาชีพจะสูงกว่าคนทำงานประจำก็ตาม
ฟรีแลนซ์มักได้รับการปฏิเสธสินเชื่อเสมอ ตั้งแต่ของชิ้นเล็กอย่างบัตรเครดิต
ที่หลายคนเพียรขอหลายครั้งก็ถูกปฏิเสธ จนอดคิดไม่ได้ว่าแล้วของชิ้นใหญ่ๆ
อย่างการขอสินเชื่อบ้าน จะมีโอกาสบ้างไหม คำตอบคือ
การขอสินเชื่อบ้านสำหรับฟรีแลนซ์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ แต่ TerraBKK ก็มีวิธีแนะนำ เพื่อให้ธนาคารพิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้น
ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1. จดทะเบียนพานิชย์หรือทะเบียนพานิชย์อิเลคทรอนิคส์
การจดทะเบียนลักษณะนี้ จะเหมือนกับการจดทะเบียนเป็นจ้าของกิจการ
เมื่อจดทะเบียนแล้ว
อาชีพที่ทำอยู่จะเป็นที่รับรู้และถูกรับรองตามกฎหมายขึ้นมาทันที
รายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนจะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทางธนาคารจะยอมพิจารณาสินเชื่อที่ยื่นขอไปได้ง่ายขึ้น
การจดทะเบียนพานิชย์ดังกล่าว ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่ม
จึงเป็นสิ่งที่ฟรีแลนซ์หลายคนไม่อยากทำ แต่ถ้าแลกกับการขอสินเชื่อบ้านง่ายขึ้น
ก็ถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่า
2. มีเงินในบัญชีมากกว่าที่ขอกู้ ในกรณีที่มีทุนมากอยู่แล้ว แต่ต้องการกู้มาเสริมอีกเล็กน้อย เงินในบัญชีที่มีมากกว่ายอดขอสินเชื่อ จะทำให้ทางธนาคารใจอ่อนยอมพิจารณาสินเชื่อให้กับฟรีแลนซ์ง่ายขึ้น เพราะถ้ามีเงินมากกว่าที่กู้ ก็หมายความว่าสามารถคืนเงินกู้ที่ขอไปได้ เพราะมีหลักประกันอยู่แล้ว แต่หลายคนไม่สามารถทำข้อนี้ได้ เพราะมีเงินเย็นอยู่ไม่มากนัก ดังนั้นให้พิจารณาที่ทางเลือกต่อไป
3. เงินฝากค้ำประกัน หรือการฝากประจำ สถาบันการเงินบางแห่งเช่น ธนาคารไทยพานิชย์ (SCB) จะพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีการฝากประจำเป็นยอดเงินจำนวนหนึ่งอย่างสม่ำเสมอและไม่มีการผิดสัญญา เพราะนั่นจะแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีรายได้แน่นอนและมากพอจะจ่ายทั้งเงินฝากและการชำระหนี้ได้
ซึ่งลูกค้าประเภทนี้ต้องเปิดบัญชีด้วยยอดเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งสูงพอสมควร
และฝากประจำกับธนาคารทุกเดือน เมื่อครบกำหนดสัญญา นอกจากจะได้สินเชื่อแล้ว
ยังได้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และเงินออมก้อนใหญ่ในบัญชีอีกด้วย
4. ยื่นขอเสียภาษี
จุดนี้คือสิ่งที่ฟรีแลนซ์หลายๆ คนไม่ได้คิดถึง หากไม่ได้จดทะเบียนพานิชย์
ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ถือเป็นหลักฐานอย่างดีที่จะยืนยันได้ว่าเป็นผู้มีรายได้จริงๆ
ในการขอสินเชื่อให้แนบเอกสารนี้ไปด้วย ก็จะได้รับการพิจารณาง่ายขึ้น
5 . มีเงินเดินบัญชีครบ
1 ปี
การเดินบัญชีคือการมียอดเงินเข้าออกในบัญชีแต่ละเดือนอย่างสม่ำเสมอ
รับค่าจ้างโดยผ่านสถาบันการเงินให้มากที่สุด เพื่อเลี้ยงบัญชีให้ครบ 1 ปี แล้วหลายๆ
ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อให้ง่ายขคึ้น
ฟรีแลนซ์ที่เลือกวิธีนี้ต้องใจเย็นและมีวินัยเพราะต้องรักษาการใช้จ่ายให้สม่ำเสมอ
ในจำนวนเงินที่เอื้อต่อการอนุมัติสินเชื่อ
คือทางธนาคารพิจารณาแล้วว่าจำนวนเงินที่ผ่านบัญชีเป็นจำนวนทมี่สามารถชำระหนี้ที่ขอสินเชื่อไปได้
6. การกูู้ร่วม
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
และเป็นวิธีสุดท้ายสำหรับคนที่ลองพึ่งตัวเองมาแล้วตามวิธีข้างต้นทั้งหมด
แต่ทางธนาคารก็ยังปฏิเสธอยู่ดี
การหาผู้กู้ร่วมที่มีรายได้แน่นอนจะทำให้ทางธนาคารอนุมัติสินเชื่อในเงื่อนไขของการกู้ร่วม
ยอดสินเชื่อที่จะอนุมัติจะถูกประเมินจากรายได้ของสองคนรวมกัน
ซึ่งอาจจะได้มากกว่ากู้คนเดียว รายละเอียดของการกู้ร่วมดูได้จาก การกู้ร่วม แต่ฟรีแลนซ์ที่จะขอกู้ร่วมก็ต้องมีเอกสารแสดงรายได้เช่นกัน
การเป็นฟรีแลนซ์ มีอิสระในการทำงานสูง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะขาดโอกาสในด้านอื่นๆ
ไปบ้าง แต่ถ้ามีการบริหารจัดการให้ดี การเป็นฟรีแลนซ์ที่เครดิตดี
จนขอสินเชื่อบ้านราคาแพงได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=13975
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=13975
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น